คำเป็นหน่วยพื้นฐานที่สำคัญในการเรียนรู้เรื่องประโยค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาษาไทยซึ่งเป็นภาษาคำโดด คำของภาษาไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปเพื่อบอกหน้าที่ที่แตกต่างทาง ไวยกรณ์หรือเพื่อบอกความสัมพันธ์ของคำที่เรียงกันอยู่ในประโยค ความสัมพันธ์ของคำแสดงด้วยการปรากฏร่วมกันของคำและตำแหน่งหรือลำดับที่ปรากฏก่อนหลังของคำ เมื่อคำปรากฏร่วมกันอาจทำหน้าที่แยกกันหรือรวมเข้าด้วยกันเป็นหน่วยเดียวและทำหน้าที่เดียวกันก็ได้
เกณฑ์การจำแนกชนิดของคำมีหลายเกณฑ์ จำนวนชนิดของคำก็แตกต่างกันไป เช่น พระยาอุปกิตศิลปสาร (๒๕๓๘: ๗๐) จำแนกชนิดของคำออกเป็น ๗ ชนิด หนังสืออุเทศภาษาไทย ชุดบรรทัดฐานภาษาไทย เล่ม ๓ จำแนกชนิดของคำในภาษาไทยออกเป็น ๑๒ ชนิด โดยใช้เกณฑ์หน้าที่ เกณฑ์ตำแหน่งที่คำปรากฏและสัมพันธ์กับคำอื่น และเกณฑ์ความหมายประกอบกัน คำทั้ง ๑๒ ชนิดนั้น ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำช่วยกริยา คำวิเศษณ์ คำที่เกี่ยวกับจำนวน คำบอกกำหนด คำบุพบท คำเชื่อม คำลงท้าย คำอุทาน และคำปฏิเสธ คำบางชนิดอาจจำแนกเป็นชนิดย่อยได้อีก คำทั้ง ๑๒ ชนิด มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
๑ คำนาม
คำนาม เป็นคำที่หมายถึงบุคคล สัตว์ วัตถุ สิ่งของ สภาพธรรมชาติ สถานที่ ความคิด ความเชื่อ ค่านิยม คือรวมทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม คำนามทำหน้าที่เป็นส่วนหลักของนามวลี คำนามจำแนกเป็น ๔ ชนิด คือ คำนามสามัญ คำนามวิสามัญ คำลักษณนาม คำอาการนาม
๑.๑ คำนามสามัญ (สามานยนาม)
คำนามสามัญ คือ คำนามที่ใช้เรียกสิ่งต่างๆ โดยทั่วไป มิได้ระบุแน่นอนว่าเป็นสิ่งนี้ มีชื่อเรียกอย่างนี้ หรือสิ่งนั้น มีชื่อเรียกอย่างนั้น เช่น คน บ้าน วัด โรงเรียน สัตว์ ข้าว ช้าง แมว อาหาร ทหาร ตำรวจ รถไฟ ไก่ย่าง ประชาธิปไตย คุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา ฯลฯ
คำนามสามัญอาจมีความหมายแคบกว้างต่างกัน คำนามสามัญที่มีความหมายแคบอาจเป็นประเภทย่อยของคำนามสามัญที่มีความหมายกว้าง เช่น ผลไม้ ทุเรียน มะม่วง ชมพู่ ก้านยาว กบ ฟ้าลั่น เขียวเสวย ฯลฯ ต่างก็เป็นคำนามสามัญแต่มีความหมายแคบกว้างต่างกัน คือ ผลไม้ มีความหมายกว้างเมื่อเทียบกับ ทุเรียน มะม่วง ชมพู่ ซึ่งมีความหมายแคบ ทุเรียน มีความหมายกว้างเมื่อเทียบกับ ก้านยาว หมอนทอง กบ ซึ่งมีความหมายแคบ มะม่วงมีความหมายกว้างเมื่อเทียบกับ ฟ้าลั่น เขียวเสวย หนังกลางวัน ซึ่งมีความหมายแคบ ชมพู่ มีความหมายกว้างเมื่อเทียบกับ แก้มแหม่ม ม่าเหมี่ยว น้ำดอกไม้ ซึ่งมีความหมายแคบ เป็นต้น
๑.๒ คำนามวิสามัญ (วิสามานยนาม)
คำนามวิสามัญ คือ คำที่เป็นชื่อซึ่งตั้งขึ้นเฉพาะสำหรับเรียกคำนามสามัญหนึ่งๆ เช่น สมชาย สมร เกษมสันต์ เป็นชื่อเฉพาะของคน เป็นคำนามวิสามัญ เจ้าแต้ม ย่าเหล ทองแดง เป็นชื่อเฉพาะของสุนัข เป็นคำนามวิสามัญเป็นต้น
คำนามวิสามัญจำนวนมากมักใช้ตามหลังคำนามสามัญ เช่น (ประเทศ)ไทย (เรือพระที่นั่ง)สุพรรณหงส์ (สวน)ลุมพินี (ถนน)ราชดำเนิน (สะพาน)ผ่านฟ้าลีลาศ (ประตู)วิเศษไชยศรี วัด(วัด)พระศรีรัตนศาสดาราม (โรงเรียน)สวนกุหลาบวิทยาลัย (รถไฟฟ้า)บีทีเอส (อาจารย์)กาญจนา (ครู)แหวว ฯลฯ
แม้จะกล่าวว่าคำนามวิสามัญเป็นชื่อเฉพาะใช้เรียกคำนามสามัญ แต่มิใช้ว่าคำนามสามัญทุกคำต้องมีชื่อเฉพาะ คำนามสามัญจำนวนมาก เช่น ประชาธิปไตย วัตถุนิยม คุณธรรม เศรษฐกิจพอเพียง ภูมิศาสตร์ จิตวิทยา ดวงอาทิตย์ อากาศ รุ้งกินน้ำ ฯลฯ เป็นคำนามสามัญที่ไม่มีชื่อเฉพาะ
๑.๓ คำลักษณนาม
คำลักษณนาม คือ คำที่ใช้บอกลักษณะของคำนามหรือคำกริยา
คำลักษณนามที่บอกลักษณะของคำนามอาจปรากฏอยู่หน้าหรือหลังคำนามและอยู่ติดกับคำนาม เช่น ฝูงผึ้งเข้าจู่โจมศัตรูทันที
เขาติดแผ่นกระดาษเล็กๆไว้ที่ผนัง
ส่งจานให้ใบสิ
แม่บอกไม่ให้กินข้าวคำน้ำคำ
คำนามคำเดียวกันอาจใช้คำลักษณนามได้หลายคำ คำลักษณนามที่ใช้แตกต่างกันนี้ บ้างก็แสดงลักษณะที่แตกต่างกันของคำนามเป็นหลายลักษณะ บ้างก็ไม่แสดงลักษณะที่แตกต่างกัน
คำลักษณนามต่างกันแสดงลักษณะของคำนามที่แตกต่างกัน เช่น
ผ้า ๒ ชิ้น นักเรียน ๓ คน หนังสือ ๔ หน้า
ผ้า ๒ ผืน นักเรียน ๓ แถว หนังสือ ๔ เล่ม
ผ้า ๒ หลา นักเรียน ๓ ห้อง หนังสือ ๔ ตั้ง
ผ้า ๒ ห่อ นักเรียน ๓ ชั้น หนังสือ ๔ ชุด
ผ้า ๒ พับ นักเรียน ๓ โรงเรียน หนังสือ ๔ มัด
ผ้า ๒ ชนิด นักเรียน ๓ กลุ่ม หนังสือ ๔ ประเภท
ฯลฯ
คำลักษณนามต่างกันแต่ไม่แสดงลักษณะของคำนามที่แตกต่างกัน เช่น
โรงเรียน ๒ โรงเรียน ตำรวจ ๓ คน
โรงเรียน ๒ แห่ง ตำรวจ ๓ คน
ส่วนคำลักษณนามที่ใช้บอกลักษณะของคำกริยา มีรูปต่างกับคำกริยาเสมอ เช่น
ค่อยจนหลับไป ๒ ตื่นแล้วเพื่อนก็ยังไม่มา
เขามาเที่ยวเมืองไทยหลายครั้ง
ตอนเดินแห่ พวกเราโห่ขึ้น ๓ ลา
เราดื่มน้ำเข้าไปคนละหลายอึก
ขอเตะซักป้าบเถอะ
ถูกตีหลายที แต่ไม่ร้องซักแอะ
๑.๔ คำอาการนาม
คำอาการนาม คือ คำนามที่เกิดจากกระบวนการแปลงคำกริยาเป็นคำนาม โดยการเติมหน่วยคำเติมหน้า การ- หรือ ความ- หน้าคำกริยา คำอาการ นามจะมีความหมายเป็นนามธรรมเสมอ
คำอาการนามที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยคำเติมหน้า การ- เช่น การกิน, การเดิน, การทำงาน, การกินดีอยู่ดี, การประท้วง, การลงมติ ฯลฯ
คำอาการนามที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยคำเติมหน้า ความ- เช่น ความเป็นอยู่, ความโลภ, ความโกรธ, ความดี, ความสุข, ความกว้าง, ความยาว ฯลฯ
คำอาการนามที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยคำเติมหน้า การ- มักแสดง “กระบวนการในการทำกริยา” ส่วนคำอาการนามที่ขึ้นต้นด้วยหน่วยคำเติมหน้า ความ- มักแสดง “สภาพของกริยา” หรือแสดง “ลักษณะรวมๆของกริยา” เช่น
การตายของเขามีเงื่อนงำ
ไม่มีใครหนีความตายได้พ้น
การฝันช่วยลดความเครียดได้
ฉันจำความฝันเมื่อคืนก่อนได้แม่นยำ
การคิดอย่างรอบคอบจะทำให้ประกอบธุรกิจไม่ขาดทุน
ความคิดที่รอบคอบจะทำให้ผ่านอุปสรรคนี้ไปได้
ร่างการคนเราจะหยุดการเจริญเติบโตเมื่ออายุประมาณ ๒๕ ปี
ความเจริญเติบโตของบ้านเมืองต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน
การจำทำให้ได้ฝึกสมอง
ความจำของเขาทำให้หลายคนประหลาดใจ
๒ คำสรรพนาม
คำสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนคำนาม คำสรรพนามทำหน้าที่เป็นส่วนหลักของนามวลีได้เช่นเดียวกับคำนาม คำสรรพนามแบ่งได้เป็น ๕ ชนิด คือ คำบุรุษสรรพนาม คำสรรพนามถาม คำสรรพนามชี้เฉพาะ คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ และคำสรรพนามแยกฝ่าย
๒.๑ คำบุรุษสรรพนาม
คำบุรุษสรรพนาม หรือ คำสรรพนามบอกบุรุษ หรือ สรรพนามแทนบุคคล คือ คำสรรพนามที่ใช้ระบุแทนบุคคล เพื่อบอกว่าเป็นผู้พูด ผู้ที่พูดด้วยหรือผู้ที่กล่าวถึง คำบุรุษสรรพนามอาจใช้ระบุแทนคน สัตว์ ต้นไม้ วัตถุ หรือ ความคิด ก็ได้ เช่น
พนักงานส่วนใหญ่ทำโอที แต่ละเดือนพวกเธอจึงมีรายได้เพิ่มมากขึ้น
เธอ เป็นคำบุรุษสรรพนามแทนคน คือ พนักงาน
ขากรรไกรของกูกางออกได้กว้างมาก ทำให้งูกินสัตว์ที่มีขนาดใหญ่กว่าตัวมันได้
มัน เป็นคำสรรพนามแทนสัตว์ คือ งู
เขาปลูกต้นก้ามปูไว้ทางตะวันตก กะให้มันบังแดดตอนบ่าย
มัน เป็นคำสรรพนามแทนต้นไม้ คือ ต้นก้ามปู
คำสรรพนามแทนบุคคลแบ่งเป็น ๓ ชนิด คือ สรรพนามบุรุษที่ ๑ สรรพนามบุรุษที่ ๒ สรรพนามบุรุษที่ ๓
ก. คำสรรพนามบุรุษที่ ๑
คำสรรพนามบุรุษที่ ๑ คือ คำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนตัวผู้พูดหรือผู้เขียน เช่น ฉัน ดิฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า หม่อมฉัน ข้าพระพุทธเจ้า ข้า กู ฯลฯ
ข. คำสรรพนามบุรุษที่ ๒
คำสรรพนามบุรุษที่ ๒ คือ คำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนผู้ที่พูดด้วย ได้แก่ ผู้ฟังและผู้อ่าน เช่น เธอ คุณ ท่าน ฝ่าบาท ใต้ฝ่าพระบาท เอ็ง มึง ฯลฯ
ค. คำสรรพนามบุรุษที่ ๓
คำสรรพนามบุรุษที่ ๓ คือ คำสรรพนามบอกบุรุษที่ใช้แทนผู้ที่กล่าวถึง เช่น เขา ท่าน เธอ พระองค์ มัน ฯลฯ
ในภาษาที่ไม่เป็นทางการ คำบุรุษสรรพนามบางคำอาจทำหน้าที่ได้หลายหน้าที่ ดังนี้
เรา ทำหน้าที่เป็นทั้งคำสรรพนามบุรุษที่ ๑ และบุรุษที่ ๒ เช่น
เราพาพ่อกะแม่มาด้วย
เรา เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๑
เราต้องกินนมเยอะๆนะ จะได้ตัวโตๆเหมือนพี่ไง
เรา เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒
เขา (ออกเสียง เค้า) ทำหน้าที่เป็นทั้งคำสรรพนามบุรุษที่ ๑ และ บุรุษที่ ๓ เช่น
วันนี้เค้ามีเรื่องสนุกมาเล่าให้ฟังด้วยแหละ
เค้า เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๑
เขา (ออกเสียง เค้า) ฝากฉันมาบอกตัวว่า อาทิตย์หน้าจะมาเยี่ยม
เขา เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๓
แก เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒
ผมเตือนแกหลายหนแล้วเรื่องก่อหนี้บัตรเครดิต แต่แกก็ไม่ใส่ใจ
แก เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๓
เสด็จ(๑)ให้มาทูลถามว่าเสด็จ(๒)ทรงได้รับของที่ระลึกหรือยังกระหม่อม
เสด็จ(๑) เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๓
เสด็จ(๒) เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ ๒
๒.๒ คำสรรพนามถาม (ปฤจฉาสรรพนาม)
คำสรรพนามถาม คือ คำสรรพนามที่ใช้แทนนามและใช้แสดงคำถามในขณะเดียวกัน ในภาษาไทยมีเพียง ๓ คำ ได้แก่ ใคร อะไร ไหน เช่น
ใครเขียนจดหมายฉบับนี้
คุณต้องการพูดกับใคร
อะไรตกลงไปในน้ำ
น้องกำลังทำอะไรอยู่
ร่มอยู่ไหน
ไหนขนมที่เธอซื้อมา
๒.๓ คำสรรพนามชี้เฉพาะ (นิยมสรรพนาม)
คำสรรพนามชี้เฉพาะ คือ คำสรรพนามที่ใช้บอกระยะใกล้ไกล คำสรรพนามชี้เฉพาะมีเพียง ๘ คำ ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นู่น ชุดหนึ่ง และ นี้ นั้น โน้น นู้น อีกชุดหนึ่ง คำสรรพนามชี้เฉพาะแต่ละชุดใช้บอกระยะใกล้ไกลแตกต่างกัน จากระยะใกล้สุดไปถึงระยะไกลสุด ๔ ระยะ นี่ กับ นี้ บอกระยะใกล้ที่สุด นั่น กับ นั้น บอกระยะไกลออกไป โน่น กับ โน้นบอกระยะไกลออกไปอีก นู่น กับ นู้น บอกระยะไกลที่สุด เช่น
คำสรรพนามชี้เฉพาะ นี่ นั่น โน่น นู่น สามารถใช้ตามหลังคำกริยาหรือใช้ขึ้นต้นประโยคก็ได้ เมื่อใช้ขึ้นต้นประโยค อาจตามด้วยคำนามหรือคำกริยาก็ได้
ใช้ตามหลังคำกริยา
นั่งนี่ไหม
ร่มอยู่นั่นไง
ดูโน่นซิ่
ดาวลูกไก่อยู่นู่น
ใช้ขึ้นต้นประโยคและมีคำนามตามมา
นี่กระเป๋าของใคร
นั่นที่ทำการไปรษณีย์
โน่นโรงพยาบาล
นู่นสถานีรถไฟ
ใช้ขึ้นต้นประโยคและมีคำกริยาตามมา
นี่กินเสีย ของอร่อยนะ
นั่นทำผิดอีกแล้ว
โน่นวิ่งไปไกลแล้ว
นู่นตามไปให้ทัน
๒.๔ คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ (อนิยมสรรพนาม)
คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะ คือ คำสรรพนามที่ไม่ระบุหรือกำหนดแน่นอนว่าหมายถึงผู้ใด อะไร สิ่งใด หรือสถานที่ใด ได้แก่ ใคร อะไร ไหน เช่น
เรื่องนี้เขาไม่ได้บอกใครเลย
เขาจะพูดอะไร ก็เรื่องของเขา
อยู่ไหนก็ไม่สะดวกเท่าบ้านเรา
คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะอาจมีรูปซ้ำกับคำสรรพนามแทนบุคคลบางคำ ได้แก่ ท่าน เรา เขา แต่จะมีความหมายต่างกัน เช่น
ท่านว่างามเพราะขนคนงามเพราะแต่ง
เขาลือกันว่าพี่ชายฉันป่วยหนัก
เทศกาลสงกรานต์เราเล่นสาดน้ำกันทั้งประเทศ
คำสรรพนามไม่ชี้เฉพาะบางคำอยู่ในรูปของคำซ้ำ ได้แก่ ใครๆ อะไรๆ ใดๆ อื่นๆ เช่น
ใครๆก็ชอบขนมปังไส้สังขยาร้านนี้
อะไรๆเขาก็กินได้ ขออย่าให้เผ็ดเป็นพอ
ใดๆในโลกล้วนอนิจจัง
แม่ครัวซื้อผัก หมู ไก่ ไข ผลไม้ และอื่นๆ
๒.๕ คำสรรพนามแยกฝ่าย (วิภาคสรรพนาม)
คำสรรพนามแยกฝ่าย คือ คำสรรพนามทีใช้แทนคำนามหรือคำบุรุษสรรพนามที่อยู่ข้างหน้าเพื่อแสดงว่ามีหลายฝ่ายหลายส่วน แต่ละฝ่ายแต่ละส่วนแยกกันทำกริยาใดกริยาหนึ่งหือมากกว่า คำสรรพนามแยกฝ่ายมีจำนวนเพียง ๓ จำนวนเท่านั้น ได้แก่ ต่าง บ้าง กัน
ต่าง ใช้แทนนามข้างหน้าว่ามีหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายอำกริยาเดียวกัน เช่น
ชาวนาต่างก็เกี่ยวข้าวแล้วนำข้าวขึ้นยุ้งฉาง
คนเหนือคนใต้หรือคนอีสาน เราต่างก็เป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น
เราต่างคนต่างอยู่จะดีกว่านะ
บ้าง ใช้แทนนามข้างหน้าเพื่อแสดงว่ามีหลายฝ่าย แต่ละฝ่ายแยกทำกริยาต่างกันหรือเป็นกรรมของกริยาต่างกัน คำว่า บ้าง มักใช้เป็นคู่ปรากฏในประโยค ๒ ประโยคที่มีโครงสร้าง คล้ายกัน เช่น
นักเรียนเหล่านั้น บ้างก็นอน บ้างก็นั่ง
เงินทองที่หามาได้ ฉันก็ใช้บ้าง เก็บบ้าง
เมื่อ บ้าง ปรากฏหลังคำนามหรือคำบุรุษสรรพนามและปรากฏหน้าคำกริยา จะแสดงความหมายว่า แต่ละฝ่ายแยกทำกริยาต่างกัน เช่น
คนสวนบ้างรดน้ำ บ้างพรวนดิน
เด็กๆบ้างก็ดูทีวีบ้างก็เล่นเกม ยังไม่ยอมหลับยอมนอนกัน
เมื่อ บ้าง ปรากฏหลังคำกริยา จะแสดงความหมายว่า แต่ละส่วนถูกกระทำไม่เหมือนกันเช่น
ของที่ซื้อเก็บไว้ในตู้เย็น ก็กินบ้าง ทิ้งบ้าง
เสื้อผ้าที่ซักแล้ว ก็รีดบ้าง ไม่รีดบ้าง ตามสะดวก
๓ คำกริยา
คำกริยา คือ คำที่ทำหน้าที่เป็นส่วนหลักของกริยาวลีซึ่งเป็นหัวใจของประโยค คำกริยามี ๒ ประเภท คือ ประเภทที่มีหน่วยกรรมกับประเภทที่ไม่มีหน่วยกรรม คำกริยาประเภทที่มีหน่วยกรรมได้แก่ คำกริยาสกรรม และ คำกริยาทวิกรรม ส่วนคำกริยาประเภทที่ไม่มีหน่วยกรรมได้แก่ คำกริยาอกรรม คำกริยาคุณศัพท์ คำกริยาต้องเติมเต็ม คำกริยานำ และ คำกริยาตาม
๓.๑ คำกริยาที่มีหน่วยกรรม
๓.๑.๑ คำกริยาสกรรม (สกรรมกริยา)
คำกริยาสกรรม คือ คำกริยาที่มีนามวลีตามหลัง นามวลีนั้นทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรม เช่น กิน ฟัง อ่าน เกี่ยว ในตัวอย่างต่อไปนี้
ฉันกินขนม
พ่อฟังข่าว
น้องอ่านหนังสือ
ชาวนาเกี่ยวข้าว
นามวลี ขนม ข่าว หนังสือ ข้าว ทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรมของกรรมกริยาสกรรม กิน ฟัง อ่าน เกี่ยว ตามลำดับ
๓.๑.๒ คำกริยาทวิกรรม
คำกริยาทวิกรรม คือ คำกริยาที่นามวลี ๒ นามวลีตามหลัง นามวลีแรกทำหน้าที่กรรมตรง ส่วนนามวลีที่สองทำหน้าที่กรรมรอง เช่น สอน ป้อน ให้ แจก อบรม ในตัวอย่างต่อไปนี้
เขาสอนภาษาไทยเด็กๆ
พี่ป้อนข้าวน้อง
แม่ให้เงินลูก
ผบ.ตร.แจกรางวัลตำรวจดีเด่น
อาจารย์ใหญ่อบรมมารยาทนักเรียน
นามวลีแรก คือ ภาษาไทย ข้าว เงิน รางวัล มารยาท ทำหน้าที่เป็นกรรมตรงของคำกริยา สอน ป้อน ให้ แจก อบรม ตามลำดับ ส่วนนามวลีที่สอง คือ เด็กๆ น้อง ลูก ตำรวจดีเด่น นักเรียน ทำหน้าที่เป็นกรรมรอง
๓.๒ คำกริยาที่ไม่มีหน่วยกรรม
๓.๒.๑ คำกริยาอกรรม (อกรรมกริยา)
คำกริยาอกรรม คือ คำกริยาที่ไม่ต้องมีนามวลีทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรมหน่วยเติมเต็ม หรือหน่วยเสริมความตามหลัง เช่น หัวเราะ ตก ขึ้น ตาย ยืน เดิน เสียใจ ดีใจ วิตก กังวล เซ็ง สนุก หัวแตก ปวดท้อง ในตัวอย่างประโยคต่อไปนี้
เด็กหัวเราะ เพื่อนๆดีใจ
ฝนตก นายกรัฐมนตรีวิตก
พระอาทิตย์ขึ้น ลูกๆกังวล
นาฬิกาตาย วัยรุ่นเซ็ง
ตำรวจยืน นักท่องเที่ยวสนุก
พ่อเดิน นักเรียนหัวแตก
เราเสียใจ พี่สาวปวดท้อง
๓.๒.๒ คำกริยาคุณศัพท์
คำกริยาคุณศัพท์ คือ คำกริยาที่ไม่ต้องมีนามวลีทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรม หรือหน่วยเสริมกรรม ตามหลัง และเป็นคำกริยาที่แสดงคุณสมบัติหรือสภาพของคำนามหรือคำบุรุษสรรพนาม เช่น ดี สวย ว่องไว สูง ในตัวอย่างต่อไปนี้
เด็กคนนี้ดี
บ้านแถวนี้สวยทุกหลังเลย
นักกีฬาเหล่านี้ว่องไว
เขาสูงขึ้นมากทีเดียว
คำกริยาคุณศัพท์มีลักษณะคล้ายคำกริยาอกรรมมาก แต่ต่างกับคำกริยาอกรรม ๒ ประการ ดังต่อไปนี้
๑) คำกริยาคุณศัพท์สามารถใช้ร่วมกับคำว่า กว่า ที่สุด ได้ กว่า ใช้เปรียบเทียบระดับว่า ผู้ใดหรือสิ่งใดมีระดับของคำกริยาคุณศัพท์มากหรือน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับผู้อื่นหรือสิ่งอื่น ส่วนคำว่าที่สุด ใช้ระบุว่าผู้ใดหรือสิ่งใดมีระดับของคำกริยาคุณศัพท์นั้นๆ เหนือกว่าผู้อื่นหรือสิ่งอื่นทั้งหมด ส่วนคำกริยาอกรรมใช้ร่วมกับคำว่า กว่า และ ที่สุด เพื่อเปรียบเทียบอย่างคำกริยาคุณศัพท์ไม่ได้ เช่น
คำกริยาคุณศัพท์ คำกริยาอกรรม
ม้าตัวนี้สวยกว่าตัวนั้น ม้าตัวนี้วิ่งกว่าตัวนั้น
ม้าตัวโน้นสวยที่สุด ม้าตัวโน้นวิ่งที่สุด
วันนี้ฝนดูท่าน่าจะหนักกว่าเมื่อวาน วันนี้ฝนดูท่าน่าจะตกกว่าเมื่อวาน
วันนี้ฝนดูท่าจะหนักที่สุด วันนี้ฝนดูท่าจะตกที่สุด
คำว่า สวย และ หนัก ใช้ร่วมกับคำว่า กว่า และ ที่สุด ได้ จึงวิเคราะห์ให้เป็นคำกริยาคุณศัพท์ ส่วนคำว่า วิ่ง กับ ตก ใช้ร่วมกับคำว่า กว่า และ ที่สุด ไม่ได้ จึงวิเคราะห์ให้เป็นคำกริยาอกรรม
๒) คำกริยาคุณศัพท์สามารถปรากฏตามหลังคำลักษณนามได้ แต่คำกริยาอกรรมไม่สามารถปรากฏตามหลังคำลักษณนามได้ ต้องมีคำเชื่อมคุณานุประโยคอยู่หน้าคำกริยาอกรรม (ดู ๒.๙.๒.๒) เช่น
หลังคำลักษณนาม หน้าคำกริยาอกรรม
หมาตัวอ้วน หมาตัวนอนอยู่
หมาตัวที่นอนอยู่
คุณแม่คนเก่ง คุณแม่คนยิ้มอยู่
คุณแม่คนที่ยิ้มอยู่
คำว่า อ้วน เก่ง ปรากฏหลังคำลักษณะนามได้ จึงวิเคราะห์ให้เป็นคำกริยาคุณศัพท์ ส่วนคำว่า นอน ยิ้ม ละลาย ไฟไหม้ ปรากฏหลังคำลักษณนามไม่ได้ จึงวิเคราะห์ให้เป็นคำกริยาอกรรม
๓.๒.๓ คำกริยาต้องเติมเต็ม (วิกตรรถกริยา)
คำกริยาต้องเติมเต็ม คือ คำกริยาที่ต้องมีนามวลีทำหน้าที่เป็นหน่วยเติมเต็มตามหลังเสมอ ได้แก่ เป็น เหมือน คล้าย เท่า ใช่ มี เกิด ปรากฏ ในตัวอย่างต่อไปนี้
เขาเป็นครูชายแดนมาเป็นสิบปี
เขาเหมือนพ่อมาก
สุมนหน้าตาคล้ายแม่
ขันใบนี้มีขนาดเท่าใบนั้น
เด็กคนนั้นใช่สมศักดิ์แน่นะ
เขามีบ้านอยู่อุทัยธานี
ปีที่แล้วเกิดภาวะฝนแล้ง
คอยไม่นาน เดี๋ยวก็ปรากฏเงารางๆขึ้นมา
นามวลี ครู พ่อ แม่ ใบนั้น สมศักดิ์ บ้าน ภาวะฝนแล้ง เงารางๆ ที่ตามหลังคำกริยา เป็น เหมือน คล้าย เท่า ใช่ มี เกิด ปรากฏ ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยกรรมหรือหน่วยเสริมความบอกสถานที่ แต่ทำหน้าที่เป็นหน่วยเติมเต็มของคำกริยาที่มาข้างหน้า
คำกริยาต้องเติมเต็มมีลักษณะคล้ายกับคำกริยาสกรรม ต่างกันที่คำกริยาต้องเติมเต็มไม่สามารถปรากฏหลังคำว่า ถูก ได้อย่างคำกริยาสกรรม เช่น
ครูถูกเป็น เปรียบเทียบกับ ครูถูกสัมภาษณ์
แม่ถูกคล้าย เปรียบเทียบกับ แม่ถูกต่อว่า
สมศักดิ์ถูกใช่ เปรียบเทียบกับ สมศักดิ์ถูกตาม
ภาวะฝนแล้งถูกเกิด เปรียบเทียบกับ ภาวะฝนแล้งถูกขจัดออกไป
เป็น คล้าย ใช่ เกิด เป็นคำกริยาต้องเติมเต็ม ส่วน สัมภาษณ์ ต่อว่า ตาม ขจัด เป็นคำกริยาสกรรม
๓.๒.๔ คำกริยานำ
คำกริยานำ คือ คำกริยาที่ต้องปรากกหน้าคำกริยาอื่นเสมอ คำกริยานำรวมกับคำกริยาที่ตามมาปรากฏในโครงสร้างกริยาเรียง เช่น ชอบ พลอย พยายาม อยาก ฝืน หัด ตั้งใจ ห้าม ช่วย ในตัวอย่างต่อไปนี้
เขาชอบเป็นหวัด
คนไข้ฝืนกินยาจนหมด
วันนี้เด็กพลอยเปียกฝนด้วย
เราพยายามเตือนเขาแล้ว
ตอนนี้เขาอยากพักผ่อนมาก
เขาฝืนกินน้ำมะเขือเทศทั้งๆที่ไม่ชอบ
๓.๒.๕ คำกริยาตาม
คำกริยาตาม คือ คำกริยาที่ปรากฏตามหลังคำกริยาอื่นเสมอ อาจปรากฏหลังคำกริยาโดยตรงหรือปรากฏหลังหน่วยกรรมของกริยาก็ได้
คำกริยาตามบางคำมีรูปเหมือนคำกริยาอกรรม เช่น ไป มา ขึ้น ลง เข้า ออก บางคำก็มีรูปเหมือนคำกริยาสกรรม เช่น ให้ ไว้ เสีย เอา ดังตัวอย่างต่อไปนี้
เขาส่งพัสดุไปแล้ว
พวกเรากลับจากเที่ยวกันมา
ลูกโป่งค่อยๆลอยขึ้นไป
น้ำลดลงมากแล้ว
พยายามเข้า อย่าได้ท้อ
เขาเก่งออก
เขาหยิบยื่นไมตรีให้ก่อน
ขอเตือนไว้ก่อนว่าอย่าพยายามแหกกฎ
ลงผู้คนแตกแยกเสียขนนาดนี้ คงให้รักกันเหมือนเดิมได้ยาก
เอื้อมไม่ถึงก็ใช้ไม้สอยเอา
๔ คำช่วยกริยา (กริยานุเคราะห์)
คำช่วยกริยา คือ คำที่ไม่ใช่คำกริยาและไม่ปรากฏตามลำพัง แต่จะปรากฏร่วมกับคำกริยาและอยู่ข้างหน้าคำกริยาเสมอเพื่อบอกความหมายทางไวยกรณ์ของกริยาได้แก่
แสดงความหมายบอกกาลเวลาว่าเป็นอดีตหรืออนาคต เช่น
หมอได้ผ่าเอาเนื้อร้ายออกหมดแล้ว
ฉันจะไปหาเขาพรุ่งนี้
แสดงความหมายว่าเกิดเหตุการณ์อยู่ในขณะใดขณะหนึ่ง เกิดเหตุการณ์เป็นประจำ หรือเหตุการณ์เพิ่งสิ้นสุดไป เช่น
ผมกำลังอาบน้ำอยู่ เลยรับโทรศัพท์ไม่ได้
เขามักออกไปวิ่งที่สวนสาธารณะทุกเย็น
แสดงเวลาคาดคะเน ขอร้อง บังคับ เช่น
เย็นนี้ฝนคงตกแน่
เราจวนถึงบ้านแล้ว
เขายังรับราชการอยู่มั้ง
คุณต้องคืนเงินผมให้ได้
๕ คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ คือ คำซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยขยายกริยา และเป็นส่วนหลักของวิเศษณ์วลี คำวิเศษณ์ซึ่งเป็นส่วนประกอบของวิเศษณ์วลีมักปรากฏหลังหน่วยกริยา หากเป็นคำกริยาอกรรมหรือคำกริยาคุณศัพท์ คำวิเศษณ์มักปรากฏหลังคำกริยาโดยตรง เช่น
นกเขาบินสูง
ลมพัดแรง
คำวิเศษณ์แบ่งย่อยเป็น ๓ ประเภท ได้แก่ คำวิเศษณ์สามัญ คำวิเศษณ์ขยายเฉพาะ และคำวิเศษณ์แสดงคำถาม
๕.๑ คำวิเศษณ์สามัญ
คำวิเศษณ์สามัญ หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ขยายคำกริยาโดยทั่วไป เช่น
วันนี้รถติดจัง เขามาตรงเวลาทีเดียว
น้องนอนแล้ว แม่บ้านทำกับข้าวเอง
เพื่อนมาก่อน ขอน้ำหน่อย
ข้าวแฉะอีก น้องสูงกว่าพี่แน่ๆ
แกงนี่เผ็ดเหมือนกัน เขาขยันที่สุด
เขาหลับกระมัง เขาบ่นไปเรื่อย
๕.๒ คำวิเศษณ์ขยายเฉพาะ
คำวิเศษณ์ขยายเฉพาะ หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ใช้ขยายกริยาคำใดคำหนึ่งโดยเฉพาะ คำวิเศษณ์ประเภทนี้จะแสดงลักษณะเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งของคำกริยา เช่น
แดงแจ๋ เปียกซ่ก
ขาวจั๊วะ อ้วนตะลุกปุ๊ก
ดำปี๋ กลมดิ๊ก
๕.๓ คำวิเศษณ์แสดงคำถาม (ปฤจฉาวิเศษณ์)
คำวิเศษณ์แสดงคำถาม หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ใช้แสดงคำถามเกี่ยวกับการกระทำ ว่ากระทำไปเพราะเหตุอะไรหรือเพื่อวัตถุประสงค์อะไร กระทำลงไปเวลาใด กระทำลักษณะใด
คำวิเศษณ์แสดงคำถามว่ากระทำไปเพราะเหตุผลอะไรหรือเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น ทำไม เหตุใด เพราะอะไร เพราะเหตุใด เพราะสาเหตุใด ไย ไฉน เหตุไฉน ในตัวอย่างต่อไปนี้
ทำไมสัตว์ป่าหลายชนิดจึงสูญพันธุ์
เหตุใดจึงไม่แจ้งกำหนดการล่าวงหน้า
เพราะอะไรจึงไม่ยอมเปิดเผยความจริง
เพราะเหตุใดประเทศไทยจึงขาดดุลการค้ากับต่างประเทศ
เพราะสาเหตุใดจึงเกิดน้ำท่วมทุกปี
๕.๔ คำวิเศษณ์บอกเวลา (กาลวิเศษณ์)
คำวิเศษณ์บอกเวลา หมายถึง คำวิเศษณ์ที่ใช้บอกเวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น กลางคืน กลางวัน ค่ำๆ เช้าๆ พรุ่งนี้ มะรืนนี้ ตะกี้ ฯลฯ
เช่นเดียวกับคำวิเศษณ์แสดงตำถาม คำวิเศษณ์บอกเวลาอาจปรากฏท้ายประโยคหรือต้นประโยคก็ได้โดยไม่ทำให้ความหมายของประโยคด้วยรวมเปลี่ยนแปลงไป เมื่อปรากฏต้นประโยค มักแสดงว่าผู้พูดต้องกาลเน้นเวลาที่เกิดเหตุการณ์หรือการกระทำนั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อย้ายคำวิเศษณ์บอกเวลาจากต้นประโยคไปไว้ท้ายประโยค อาจต้องเปลี่ยนคำบางคำ ลดหรือเพิ่มคำบางคำในประโยค ดังตัวอย่างต่อไปนี้
กลางคืนบริษัทต่างๆไม่เปิดหรอก บริษัทต่างๆไม่เปิดกลางคืนหรอก
กลางวันถนนสายนี้รถแน่นมาก ถนนสายนี้รถแน่นมากตอนกลางวัน
ค่ำๆเราก็ติดต่อเขาได้ เราติดต่อเขาได้ค่ำๆ
เช้าๆนักกีฬาจะซ้อมวิ่งกัน นักกีฬาจะซ้อมวิ่งกันเช้าๆ
๖ คำที่เกี่ยวกับจำนวน
๖.๑ คำบอกจำนวน
คำบอกจำนวน คือ คำที่มีความหมายถึงจำนวน เช่น ๑ ๒ ๓ ฯลฯ และคำว่า ทุก หลาย กี่ บาง ครึ่ง ฯลฯ คำบอกจำนวนมักปรากฏหน้าคำลักษณะนาม หน้าคำนาม หรือปรากฏหลังกริยาต้องเติมเต็มเป็นต้น
ก. คำบอกจำนวนที่ปรากฏหน้าคำลักษณะนาม
เราจะซื้อหนังสือ ๒ เล่ม
เขามีลูก ๓ คน
เจ้าหน้าที่ตรวจกระเป๋าเดินทางทุกใบ
คำบอกจำนวนที่อยู่ในโครงสร้าง คำนาม + คำบอกจำนวน + คำลักษณนาม โดยทั่วไปนิยมเขียนโดยใช้ตัวเลข
ข. คำบอกจำนวนที่ปรากฏอยู่หน้าคำนาม
เรามีสองมือสองตีนเท่ากัน
สามพรานอาสาล่าช้างที่ตกมัน
สามชายชอบผู้หญิงคนเดียวกัน
คำบอกจำนวนอยู่ในโครงสร้าง คำบอกจำนวน + คำนาม อาจเขียนโดยใช้ตัวเลขหรือตัวหนังสือก็ได้
ค. คำบอกจำนวนที่ปรากฏหลังคำว่า เป็น
มีคนมาประชุมเป็นร้อย
สงครามโลกทำให้ประชากรโลกล้มตายกันเป็นล้าน
๖.๒ คำบอกลำดับ
คำบอกลำดับ คือ คำที่แสดงลำดับที่ ได้แก่ คำบอกจำนวนประเภทตัวเลขที่ปรากฏกับคำว่า ที่ เช่น ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม ฯลฯ และคำว่า หนึ่ง เดียว แรก สุดท้าย หน้า หลัง กลาง ที่โหล่ บ๊วย รั้งท้าย
คำบอกลำดับที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า ที่ มักปรากฏอยู่หลังคำนามหรือปรากฏหลังคำกริยากรณีที่ละคำนาม ตำแหน่ง รางวัล อันดับ ฯลฯ เช่น
สุขศรีได้รับรางวัลที่หนึ่งในการประกวดเรียงความ
เขาสอบได้ที่โหล่เสมอ
๖.๓ คำหน้าจำนวน
คำหน้าจำนวน คือ คำที่ปรากฏอยู่หน้าคำบอกจำนวน และมักมีคำลักษณนามตาม คำหน้าจำนวนจะขยายความหมายของคำบอกจำนวนอีกทีหนึ่ง คำหน้าจำนวนที่พบบ่อย เช่น อีก สัก ตั้ง ทั้ง เพียง ประมาณ เกือบ ราว เกือบๆ ราวๆ กว่า ฯลฯ ในตัวอย่างต่อไปนี้
เราจะซื้อเสื้ออีก ๒ ตัว
สมฤทัยมีลูกตั้ง ๕ คน
บริษัทนี้มีคนงานราวๆ ๕๐๐ คน
๖.๔ คำหลังจำนวน
คำหลังจำนวน คือ คำที่ปรากฏอยู่หลังคำบอกจำนวน อาจปรากฏอยู่หน้าหรือหลังคำลักษณนามก็ได้
คำหลังจำนวนที่ปรากฏอยู่หน้าคำลักษณนาม ได้แก่คำว่า กว่า เช่น
มีคนมาประชุมพันกว่าคน
เสื้อตัวนี้ราคา ๕๐๐ กว่าบาท
๗ คำบอกกำหนด
คำบอกกำหนด คือ คำขยายนามที่อยู่ตำแหน่งท้ายสุดในนามวลี แบ่งย่อยได้เป็น ๒ ชนิด คือ คำบอกกำหนดชี้เฉพาะ และคำบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะ
๒.๗.๑ คำบอกกำหนดชี้เฉพาะ
คำบอกกำหนดชี้เฉพาะ คือ คำขยายนามเพื่อกำหนดชี้เฉพาะว่าคำนามนั้นอยู่ใกล้หรือไกล คำบอกกำหนดจะใช้เป็นคำในตำแหน่งท้ายสุดของนามวลีเสมอ คำบอกกำหนดมีจำนวน ๘ คำ ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นู่น และ นี้ นั้น นู้น
นวนิยายนี่ใครเป็นคนแต่ง
เสื้อนั่นยังไม่ได้ซัก
ผมไม่ชอบรสนี้ มันปร่าๆชอบกล
บ้านนั้นอยู่กันหลายคน
๗.๒ คำบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะ
คำบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะ คือ คำขยายนามที่ไม่ระบุระยะใกล้ไกล อย่างคำบอกกำหนดชี้เฉพาะ และไม่ระบุแน่ชัดหรือเจาะลงไปว่าเป็นผู้ใด ชิ้นใด ตัวใด เป็นต้น เช่น อื่น อื่นๆ นานา ต่างๆ ต่างๆนานา ใด ไหน
ตัวอย่างคำบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะที่ปรากฏหลังคำนามและติดกับคำนาม เช่น
รถอื่นเข้าอู่หมด
ของอื่นๆมีคนจองแล้วทั้งนั้น
ธัญพืชต่างๆล้วนแต่มีประโยชน์
ตัวอย่างคำบอกกำหนดไม่ชี้เฉพาะที่ปรากฏหลังคำนามโดยมีคำลักษณนามมาคั่น เช่น
รถคันอื่นเข้าอู่หมดแล้ว
ของชิ้นอื่นๆมีคนจองแล้วทั้งนั้น
ธัณพืชชนิดต่างๆล้วนแต่มีประโยชน์
๘ คำบุพบท
คำบุพบท หรือ คำบุรพบท คือ คำที่ปรากฏหน้านามวลีและประกอบกันเข้าเป็นบุพบทวลี คำบุพบทมักมีความหมายเพื่อบอกตำแหน่ง หน้าที่ ความเกี่ยวข้อง ความมุ่งหมาย ความเป็นเจ้าของ ฯลฯ ของนามวลีที่สัมพันธ์กับคำกริยาหรือบอกความสัมพันธ์ระหว่างนามวลีกับนามวลีในประโยคเดียวกัน
คำบุพบทรวมกับนามวลีที่ตามมาเป็นบุพบทวลีทำหน้าที่เป็นส่วนขยายนามวลีหรือกริยาวลีที่อยู่ข้างหน้า เช่น
ปากกาของฉันหายบ่อย
ของ เป็นคำบุพบท ปรากฏหน้านามวลี ฉัน และรวมกันเป็นบุพบทวลี ของฉัน ใช้ขยายคำนาม ปากกา บุพบทวลี ของฉัน รวมกับนามวลี ปากกา กลายเป็นนามวลีเดียวกันว่า ปากกาของฉัน
๙ คำเชื่อม
คำเชื่อม คือ คำที่ใช้เชื่อมคำ วลี หรือประโยคเข้าด้วยกัน คำเชื่อมมี ๔ ชนิด คือ คำเชื่อมสมภาค คำเชื่อมอนุประโยค คำเชื่อมเสริม และ คำเชื่อมสัมพันธสาร
๙.๑ คำเชื่อมสมภาค
คำเชื่อมสมภาค คือ คำเชื่อมที่ใช้เชื่อมหน่วยทางภาษาตั้งแต่ ๒ หน่วยขึ้นไปเข้าเป็นหน่วยภาษาหน่วยเดียวกัน หน่วยภาษาที่เชื่อมด้วยคำเชื่อมสมภาคต้องเป็นหน่วยภาษาประเภทเดียวกัน อาจเป็นคำนามกับคำนาม คำสรรพนามกับคำสรรพนาม คำนามกับคำสรรพนาม นามวลีกับนามวลี ปริมาณวลีกับปริมาณวลี วิเศษณ์กับวิเศษณ์วลี กริยาวลีกับกริยาวลี บุพบทวลีกับบุพบทวลี ประโยคย่อยกับประโยคย่อย หรืออนุประโยคกับอนุประโยคก็ได้ คำเชื่อมสมภาค ได้แก่ กับ (หรือ กะ) และ หรือ แต่ เช่น
คำเชื่อมสมภาคเชื่อมคำนามกับคำนาม หรือนามวลีกับนามวลี เช่น
น้ำกะน้ำมันเข้ากันไม่ได้
พ่อและแม่เป็นผู้ให้กำเนิดลูก
เธอชอบข้าวเจ้าหรือข้าวเหนียว
๙.๒ คำเชื่อมอนุประโยค
คำเชื่ออนุประโยค หมายถึง คำที่นำหน้าอนุประโยคในประโยคซ้อน แล้วทำหน้าที่ร่วมกันเป็นส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก คือ อาจเป็นหน่วยประธาน หน่วยกรรม หน่วยเติมเต็ม หรือเป็นส่วนขยายสวนใดส่วนหนึ่งของประโยคหลัก คำเชื่อมอนุประโยคมี ๓ ชนิด ได้แก่ คำเชื่อมมานานุประโยค คำเชื่อมคุณานุประโยค และคำเชื่อมวิเศษณานุประโยค
๙.๓ คำเชื่อมเสริม
คำเชื่อเสริม หมายถึง คำเชื่อมที่เพิ่มขึ้นเพื่อทำให้หน่วยภาษา ๒ หน่วย สัมพันธ์กันได้ชัดเจนขึ้น คำเชื่อมเสริม ได้แก่ จึง เลย ถึง ก็
๙.๔ คำเชื่อมสัมพันธสาร
คำเชื่อมสัมพันธสาร หมายถึง คำเชื่อมประโยคตั้งแต่ ๒ ประโยคขึ้นไปให้รวมกันเป็นสัมพันธสารเดียวกัน เช่น กล่าวคือ อย่างไรก็ตาม อย่างไรก็ดี อย่างไรเสีย แม้กระนั้น ในที่สุด แต่ทว่า ทั้งนี้ อนึ่ง ฯลฯ เช่น
ความรักช่วยสร้างสันติภาพแก่โลก # กล่าวคือ # เมื่อมนุษย์มอบและแบ่งปันความรักให้แก่กัน ก็จะไม่บังเกิดความริษยา ความเกลียดชัง ซึ่งเป็นต้นต่อของความขัดแย้งอันนำไปสู่สงคราม #
๑๐ คำลงท้าย
คำลงท้าย หมายถึง คำที่ปรากฏในตำแหน่งสุดท้ายของประโยค ไม่มีความหมายเด่นชัดในตัว และไม่มีหน้าที่สัมพันธ์ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของประโยค แต่ละคำอาจมีหลายรูปแบบซึ่งแตกต่างกันที่เสียงวรรณยุกต์ ความสั้นความยาวของเสียงสระ เรื่องใดเรื่องหนึ่งหรือทั้งสองเรื่องก็ได้ คำลงท้ายอาจแบ่งย่อยเป็น ๒ กลุ่ม คือ กลุ่มแสดงทัศนภาวะและกลุ่มแสดงมารยาท
๑๐.๑ คำลงท้ายแสดงทัศนภาวะ
คำลงท้ายแสดงทัศนภาวะ หมายถึง คำลงท้ายที่แสดงเจตนาหรือความรู้สึกด้วยการออกเสียงต่างๆ จะสังเกตได้ว่าถ้าออกเสียงสระสั้นและลงน้ำหนักเสียง มักเป็นคำสั่งหรือแสดงอารมณ์โกรธ ถ้าออกเสียงสระยาวหรือไม่ลงน้ำหนัก มักแสดงเจตนาชักชวน ขอร้อง โน้มน้าว ออดอ้อน เป็นต้น คำลงท้ายแสดงทัศนภาวะ เช่น ซิ นะ เถอะ ล่ะ
เงินทอนล่ะ
ทำไมเขาไม่มาล่ะ
เข้ามาซิ่
๑๐.๒ คำลงท้ายแสดงมารยาท
คำลงท้ายแสดงมารยาท หมายถึงคำลงท้ายแสดงความสุภาพ หรือไม่สุภาพ ขณะเดียวกันก็อาจแสดงสถานะและความสัมพันธ์ระหว่างผู้พูดด้วย ดังนี้
ใช้แสดงความสุขภาพได้แก่ ครับ คะ ค่ะ ขา เช่น
รถมาแล้วครับ
พร้อมแล้วใช่ไหมคะ
ใช้แสดงความไม่สุภาพได้แก่ วะ หว่ะ ยะ ย่ะ เช่น
จะไปไหนกันดีวะ
รถติดจังเลยหว่ะ
ใช้แสดงจริตหรือใช้แสดงการประชดได้แก่ ยะ ย่ะ เช่น
วันนี้ลมอะไรหอบมาถึงนี่ได้ละยะ
ฉันสวยย่ะ
ใช้แสดงว่าผู้พูดเป็นผู้หญิงได้แก่ คะ ค่ะ ขา เช่น
พัสดุเพิ่งมาถึงเมื่อวานนี้ค่ะ
คุณมาคนเดียวหรือคะ
๑๑ คำอุทาน
คำอุทาน คือ คำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ เช่น สะเทือนใจ ตกใจ ดีใจ เห็นใจ ประหลาดใจ สงสาร สงสัย เจ็บปวด เป็นต้น
คำอุทานมักปรากฏหน้าประโยค ในการเขียนมักมีเครื่องหมายอัศเจรีย์ (!) กำกับหลังคำอุทานนั้น เช่น
โถ ! เจ้าเขี้ยวเงินไม่นาตายเลย
ว้าย ! ช่วยด้วย
โธ่ ! ไม่นาเป็นเช่นนี้เลย
๑๒ คำปฎิเสธ
คำปฎิเสธ คือ คำที่ใช้บอกปัดหรือไม่ยอมรับ คำปฏิเสธจำแนกเป็น ๒ ชนิด คือ คำปฏิเสธกริยา และ คำปฏิเสธข้อความ
๑๒.๑ คำปฏิเสธกริยา
คำปฏิเสธกริยา ได้แก่ คำว่า มิ ไม่ หาไม่ และ หา...ไม่
ผมมิใช่คนดีอะไร
คนหลายคนไม่ชอบทุเรียน
๑๒.๒ คำปฏิเสธข้อความ
คำปฏิเสธข้อความ ได้แก่ หามิได้ มิได้ เปล่า มักใช้ปฏิเสธคำถาม เช่น
ก: คุณมากับภรรยาหรือ
ข: หามิได้
ก: ถ้าอย่างนั้นคงมากับเพื่อนๆ
ข: มิได้
ก: คุณดูท่าทางเหนื่อยนะ
ข: เปล่า
ขอบคุณครับ
ตอบลบเป็นลมแปร๊ปปปปปปปปปปปปปปปปปปปปป
ตอบลบ//เศร้า(T~T)
3-4ชม.กว่าจะเสร็จ😆
ตอบลบ